วรรณกรรมคลาสสิกของจีน "จินผิงเหมย์" หรือที่เรียกในสำเนียงแต้จิ๋วว่า "กิมปังบ๋วย" มีความหมายตรงตัวว่า "ดอกบ๊วยในแจกันทอง" นักอ่านยกย่องให้เป็น 1 ใน 4 สุดยอดวรรณกรรมจีน ร่วมกับวรรณกรรมของจีนอีกสามเรื่องอัน ประกอบด้วย สามก๊ก ซ้องกัง และ ไซอิ๋ว เรียกรวมกันว่า "สี่วรรณกรรมอันยิ่งใหญ่" แม้ในเวลาต่อมา "จินผิงเหมย์" จะถูกนักอ่านบางส่วนต่อต้าน ทั้งนี้เพราะในเนื้อเรื่องที่มีการพรรณนาบทสังวาสจำนวนมาก จนถูกเรียกว่าเป็นหนังสือโลกีย์ กระนั้น ด้วยความงามของวรรณกรรมที่แต่งขึ้นด้วยภาษาที่งดงาม ละเมียดละไม แม้จะกลายเป็นหนังสือโลกีย์ หากแต่มีนักอ่านรับกันเป็นส่วนใหญ่ว่าเป็นหนังสืออันทรงค่าอยู่เช่นเดิม
ในภาคภาษาไทยนั้น ในส่วนสำนวนแปลของ "ยาขอบ" นี้ เล่ากันว่า สาเหตุที่เขาแปล "จินผิงเหมย" เป็นภาษาไทยนั้น เนื่องจากขณะที่เขาป่วย เพื่อนผู้หนึ่งของเขาได้ส่งหนังสือจินผิงเหมย ฉบับภาษาอังกฤษชื่อ "Chin P'ing Mei" ซึ่ง "เบอร์นาร์ด เมียล (Bernard Miall)" แปลจากฉบับภาษาเยอรมันที่ "ฟรันซ์ คูห์น (Franz Kuhn)" แปลมาจากภาษาจีนอีกทอดหนึ่งมาให้ ยาขอบอ่านแล้วประทับใจมาก แม้ช่วงนั้นแพทย์สั่งห้ามเขาเขียนหนังสือก็ตาม
เขากล่าวว่า "...หนังสือเล่มนั้นดูดดึงความรู้สึกของข้าพเจ้าเหลือเกิน บัดนี้ ข้าพเจ้ากล้ากล่าวได้อย่างเต็มปากว่า เพราะอาศัยความดื่มด่ำจากรสชาติของภาษาและความละมุนละไม ตามเนื้อเรื่องของหนังสือเล่มนั้น เล่มที่ข้าพเจ้าได้อ่าน บัดนี้ ข้าพเจ้าหาระย่อต่อความตายแล้วไม่!"
ISBN | : 9786163341488 (ปกอ่อน) 576 หน้า |
ขนาด | : 147 x 208 x 35 มม. |
น้ำหนัก | : 695 กรัม |
เนื้อในพิมพ์ | : ขาวดำ |
ชนิดกระดาษ | : กระดาษถนอมสายตา |
สำนักพิมพ์ | : ดอกหญ้า 2000, สนพ. |
เดือนปีที่พิมพ์ | : 2017 |
ชื่อเรื่องต้นฉบับ | : Chin P'ing Mei |